Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

แน่ใจหรือว่าคุณไม่เสี่ยง... “มะเร็งลำไส้ใหญ่

22 มิ.ย. 2566



มะเร็งลำไส้ใหญ่ สำคัญอย่างไร...
?
   มะเร็งลำไส้ใหญ่...เป็นมะเร็งที่พบบ่อยและเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ ของประเทศไทยและมีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมะเร็งลำไส้ใหญ่มีทั้งหมด 5 ระยะ ตั้งแต่ระยะที่ 0 ซึ่งเป็นระยะเริ่มต้นที่ยังไม่ลุกลามจนถึงระยะที่ 4 ซึ่งเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย มะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะเริ่มต้นมักจะไม่มีอาการใดๆ แต่เมื่อผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้อง ท้องผูก ถ่ายเป็นเลือด มะเร็งมักจะเข้าสู่ระยะลุกลามไปแล้ว และมะเร็งระยะเริ่มต้นตอบสนองต่อการรักษาดี มีโอกาสหายขาดสูง มะเร็งระยะลุกลามรักษายาก อาจไม่หาย และโอกาสเสียชีวิตสูง
ความเสี่ยงที่สำคัญ เช็กให้แน่ใจ!
  • อายุมาก 
  • การมีสมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
  • เป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง
  • เป็นโรคทางพันธุกรรมบางชนิดที่เพิ่มโอกาสการมีเนื้องอกหรือมะเร็งในลำไส้ใหญ่
  • การสูบบุหรี่

    จะเห็นว่า...ความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นความเสี่ยงที่ไม่สามารถป้องกันหรือแก้ได้ ตัวอย่างเช่น อายุ หรือประวัติครอบครัวเป็นต้น ในปัจจุบันยังไม่มียาหรือวิธีการใดที่จะป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ 100%

    ในเมื่อเราไม่สามารถป้องกันความเสี่ยงได้ทั้งหมดและมะเร็งระยะเริ่มต้นรักษาง่าย และโอกาสหายสูงกว่า ดังนั้น การตรวจคัดกรองเพื่อให้พบมะเร็งลำไส้ใหญ่ให้เร็วที่สุดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุด “จำไว้ว่าการตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ ยิ่งพบเร็วเท่าไหร่ ยิ่งดีเท่านั้น ยิ่งถ้าพบก่อนที่จะกลายเป็นมะเร็งได้ จะดีที่สุด อาจจะไม่ต้องผ่าตัดหรือให้ยาเคมีบำบัดใดๆเลย”

ใครบ้าง ?? ที่ควรตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่
   ทุกคนที่อายุมากกว่า 50 ปี ควรได้รับตรวจคัดกรองมะเร็งลำใหญ่ และหากมีความเสี่ยงดังต่อไปนี้ ควรได้รับการตรวจคัดกรองเร็วขึ้น
  1. เคยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือเคยตรวจพบติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่มาก่อน
  2. มีสมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือเคยตรวจพบติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่
  3. เป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง
  4. เคยได้รับการฉายรังสีเพื่อรักษามะเร็งตอนเด็ก
การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่

   การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถทำได้หลายวิธี อาทิเช่น การตรวจอุจจาระ การทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์  หรือการส่องกล้อง เป็นต้น แต่วิธีที่นิยมและมีหลักฐานทางวิชาการรองรับมากที่สุดในปัจจุบัน ได้แก่

  1. การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนล่าง
  2. การตรวจหาเลือดในอุจจาระ
   ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับจากสมาคมทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย สมาคมทางเดินอาหารประเทศสหรัฐอเมริกาและทั่วโลกว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่

“การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ด้วยการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนล่าง ควรตรวจทุก 5 - 10 ปี”

เป็นวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และถือเป็นมาตรฐานสูงสุดในการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่

วิธีการตรวจโดยการใส่กล้องขนาดเล็ก ผ่านทางทวารหนักเข้าไปตรวจลำไส้โดยตรง ไม่เจ็บ ใช้เวลาไม่นาน และไม่ต้องนอนโรงพยาบาล


จุดเด่นของการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนล่าง

  1. ประสิทธิภาพสูงที่สุดเมื่อเทียบกับการตรวจคัดกรองวิธีอื่น
  2. ไม่ต้องตรวจบ่อย หากผลปกติ ตรวจคัดกรองซ้ำอีกครั้งในระยะ 5 - 10 ปี หลังการตรวจครั้งแรก
  3. หากพบติ่งเนื้อหรือเนื้องอกในลำไส้ สามารถตัดติ่งเนื้อหรือเนื้องอกหรือเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อด้วยการส่องกล้องออกได้เลย อาจไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเพิ่มเติม
  4. สามารถตรวจเจอติ่งเนื้อตั้งแต่ระยะที่ยังไม่กลายเป็นมะเร็ง และตัดออกเพื่อป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่

ข้อจำกัด

  1. ต้องรับประทานยาระบายเพื่อเตรียมลำไส้ก่อนส่องกล้อง เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการตรวจคัดกรอง

“การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ด้วยการตรวจหาเลือดในอุจจาระ ควรตรวจทุกปี ”

  • เป็นวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่มีที่มีความไว แต่ความแม่นยำน้อยกว่าวิธีการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนล่าง
  • เนื่องจากมีความไวและความแม่นยำน้อยกว่าการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนล่าง จึงมีความจำเป็นต้องตรวจทุกปี
  • มี 2 วิธี คือ gFOBT และ FIT โดยเฉพาะวิธี FIT เนื่องจากมีความไวและความจำเพาะสูงกว่า gFOBT

    จุดเด่นของการตรวจหาเลือดในอุจจาระ คือ ไม่ต้องทานยาระบายเตรียมลำไส้ ไม่ต้องงดน้ำหรืออาหาร สามารถเก็บอุจจาระแล้วตรวจได้เลย

จุดเด่น
  1. ประสิทธิภาพต่ำกว่าการส่องกล้อง ดังนั้นต้องตรวจทุกปี
  2. โอกาสตรวจเจอติ่งเนื้อหรือเนื้องอกระยะเริ่มต้นน้อยกว่าการส่องกล้อง
  3. หากผลเป็นบวกคือตรวจพบเลือดในอุจจาระ ต้องส่องกล้องทางเดินอาหารเพิ่มเติมเพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุต่อไป

ควรเลือกการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยวิธีการแบบใด ทั้ง 2 วิธี มีทั้งจุดเด่นและข้อจำกัด 

   ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเดินทางอาหารเพื่อช่วยพิจารณาและเลือกวิธีที่เหมาะสมกับตัวเรามากที่สุด “สิ่งที่สำคัญ คือ ต้องตรวจคัดกรอง เพราะไม่ว่าจะเลือกวิธีไหน ก็ไม่มีผิด ไม่มีถูก แต่หัวใจที่สำคัญที่สุด คือ ความสม่ำเสมอในการตรวจคัดกรองนั่นเอง ไม่มีใครรู้ว่า ในอนาคตเราจะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือไม่ เมื่อไหร่ แต่เราป้องกันได้ รักษาหายได้ ถ้าตรวจพบเร็ว และตั้งแต่ที่เราเริ่มตัดสินใจคิดที่จะตรวจคัดกรอง โอกาสเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ของเราก็ลดลงแล้ว”

สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ.พีระนาท โชติวิทยธารากร แพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหาร
โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ต่อ ศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ

 

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.